เมื่อต้องเผชิญกับการเจ็บป่วยหนัก การเลือกเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนเป็นทางเลือกหนึ่งที่หลายคนพิจารณา เพราะมีความสะดวกสบายและทันสมัย สามารถเข้ารับการรักษาที่ดีได้ทันทีโดยไม่ต้องรอนาน และไม่ต้องเดินเรื่องทำเอกสารเอง แต่สิ่งที่หลายคนกังวลคือ ค่าใช้จ่ายที่อาจสูงมาก โดยเฉพาะค่าห้องพักผู้ป่วยในที่คิดเป็นรายวัน บทความนี้จะมาเจาะลึกว่าค่าใช้จ่ายในการนอนโรงพยาบาลเอกชนคืนละเท่าไหร่ ทั้งโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เพื่อให้คุณได้เตรียมตัวรับมือกับค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างรอบคอบ
เจ็บป่วยหนักต้องรู้ ! นอนโรงพยาบาลเอกชน คืนละเท่าไหร่ เพื่อเตรียมตัวรับมือค่าใช้จ่ายก่อนป่วย
ทำไมค่าห้องพักโรงพยาบาลเอกชนถึงแตกต่างกัน ?
ค่าห้องพักผู้ป่วยในของโรงพยาบาลเอกชนแต่ละแห่งมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น
- ทำเลที่ตั้ง : โรงพยาบาลในเมืองใหญ่หรือใจกลางเมืองมักจะมีค่าห้องพักสูงกว่า
- ขนาดและประเภทของห้อง : ห้องเดี่ยว ห้องคู่ ห้องรวม มีขนาดและสิ่งอำนวยความสะดวกที่แตกต่างกัน โดยห้องเดี่ยวมีตั้งแต่ห้องสแตนดาร์ด ไปจนถึงห้องระดับซูพีเรีย พรีเมียม เพรสซิเดนเชียล ที่มีห้องพักของผู้เฝ้าไข้แยกต่างหาก หรือมีห้องรับรองแขก ห้องทำงานแยกเป็นสัดส่วน เป็นต้น
- ชื่อเสียงและความทันสมัยของโรงพยาบาล : โรงพยาบาลที่มีชื่อเสียงด้านความเชี่ยวชาญการรักษาเฉพาะทาง มีอุปกรณ์ทางการแพทย์และเทคโนโลยีที่ทันสมัย มักจะมีค่าบริการสูงกว่า
- ประเภทของการรักษา : การรักษาในแต่ละสาขาจะมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกัน ยิ่งเกี่ยวข้องกับระบบอวัยวะภายในที่มีความสำคัญที่ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ เช่น สมอง หัวใจ จะยิ่งมีค่ารักษาที่สูงมากขึ้น
- สิทธิประโยชน์จากประกันสุขภาพ : หากมีประกันสุขภาพจะช่วยลดค่าใช้จ่ายลงได้
ตัวอย่างค่าห้องพัก ในการนอนรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน (ห้องเดี่ยวขนาดมาตรฐาน)
- โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ คืนละประมาณ 14,000 บาทขึ้นไป
- โรงพยาบาลกรุงเทพ คืนละประมาณ 11,000 บาทขึ้นไป
- โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท คืนละประมาณ 9,000 บาทขึ้นไป
- โรงพยาบาลกรุงเทพ เชียงใหม่ คืนละประมาณ 4,000 บาทขึ้นไป
- โรงพยาบาลกรุงเทพนครราชสีมา คืนละประมาณ 4,000 บาทขึ้นไป
- โรงพยาบาลมิชชั่น ภูเก็ต คืนละประมาณ 3,000 บาทขึ้นไป
ทั้งนี้ ค่าห้องพักในการนอนรักษาที่โรงพยาบาลเอกชนที่ระบุเป็นเพียงตัวอย่าง และอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและโปรโมชันของโรงพยาบาล ซึ่งนอกจากค่าห้องพักแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่ต้องพิจารณาอีก เช่น
- ค่าอาหาร : โรงพยาบาลส่วนใหญ่จะมีบริการอาหารให้ผู้ป่วย แต่สามารถสั่งอาหารจากภายนอกได้
- ค่ายา : ค่ายาจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับชนิดและปริมาณของยาที่ใช้
- ค่าบริการทางการแพทย์ : เช่น ค่าตรวจ ค่าผ่าตัด ค่ารักษา
- ค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ : เช่น ค่าเครื่องช่วยหายใจ ค่าสายสวน ซึ่งยิ่งใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์มากเท่าไรยิ่งมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นเท่านั้น อาทิ เครื่องเอกซเรย์ เครื่อง MRI เครื่อง CT-Scan เป็นต้น
- ค่าบริการอื่น ๆ : เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต
วิธีเตรียมตัวรับมือค่าใช้จ่าย
หากจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน ควรเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรับมือกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และค่าห้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชน ดังนี้
- ตรวจสอบความคุ้มครองของประกันสุขภาพ : ตรวจสอบให้แน่ใจว่าแผนประกันสุขภาพที่คุณมีครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนหรือไม่
- สอบถามรายละเอียดค่าใช้จ่าย : ก่อนเข้ารับการรักษา ควรสอบถามรายละเอียดค่าใช้จ่ายกับโรงพยาบาลโดยตรง เพื่อวางแผนการเงินได้อย่างเหมาะสม รวมไปถึงระยะเวลาการเข้าพักรักษาตัว เพราะยิ่งอยู่นาน ค่าใช้จ่ายจะยิ่งสูงตามไปด้วย
- เปรียบเทียบราคา : เปรียบเทียบราคาค่าห้องพักและค่าบริการของโรงพยาบาลต่าง ๆ ก่อนตัดสินใจ
- เลือกโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสุขภาพ : หากมีประกันสุขภาพ การเลือกโรงพยาบาลในเครือข่ายจะช่วยลดค่าใช้จ่ายได้
- เตรียมเอกสารสำคัญ : เตรียมบัตรประชาชน บัตรประกันสุขภาพ และเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้พร้อม
- พิจารณาเลือกห้องพัก : เลือกขนาดและประเภทของห้องพักที่เหมาะสมกับงบประมาณของคุณ
- ปรึกษาแพทย์ : ปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับทางเลือกในการรักษาที่เหมาะสมและประหยัดค่าใช้จ่าย
- เตรียมเงินสำรอง : เตรียมเงินสำรองไว้เผื่อใช้จ่ายในกรณีที่ค่าใช้จ่ายเกินกว่าที่ประกันสุขภาพคุ้มครอง
จะเห็นได้ว่า เมื่อจำเป็นต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลเอกชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเตรียมตัวล่วงหน้าจะช่วยให้คุณรับมือกับค่าห้องพักและค่าใช้จ่ายในการนอนโรงพยาบาลเอกชนได้อย่างมั่นใจ และสามารถเข้ารับการรักษาได้อย่างเต็มที่ เพื่อให้คุณหายป่วยจากโรคได้อย่างรวดเร็ว และฟื้นคืนคุณภาพชีวิตที่ดี ให้สามารถดำรงชีวิตอย่างปกติสุขต่อไป