“ยาพาราเซตามอล” หรือยาแก้ปวดที่ทุกคนรู้จัก จัดว่าเป็นยาสามัญประจำบ้านไปแล้ว เพราะทุกบ้านต้องมี เวลาเกิดอาการปวด ไม่ว่าปวดหัว ปวดฟัน ปวดท้อง ก็จะคิดถึงแต่ยาพาราเซตามอล แต่รู้ไหมว่ายาตัวนี้เอาไว้รักษาอาการปวดแบบไหนได้บ้าง วันนี้เรามาไขคำตอบกัน
ยาพาราเซตามอล แก้อะไร
ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) หรือ ที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อะเซตามีโนเฟน จัดเป็นยาแก้ปวด ลดไข้ ชนิดหนึ่งที่ได้ผลดีช่วยในการบรรเทาอาการปวดได้หลายอย่าง เช่น ปวดศีรษะ ปวดไหล่ ปวดหลัง เป็นต้น โดยเป็นยาที่ใช้บรรเทาอาการปวดน้อยถึงปวดปานกลางเท่านั้น ไม่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและไม่มีผลต่ออาการปวดขั้นรุนแรง เช่น จากการผ่าตัดใหญ่
ปวดแบบไหนที่รับประทานยาพาราเซตามอลไม่ได้ผล
- อาการปวดรุนแรง มีวิธีการประเมินความปวดอย่างง่ายวิธีหนึ่งคือการให้คะแนนความปวดจาก 0 ถึง 10 ให้เลข 0 แทนความรู้สึกที่ไม่มีอาการปวดแต่อย่างใดและเลข 10 แทนความรู้สึกปวดมากที่สุดเท่าที่จะจินตนาการได้ หากประเมินแล้วตัวเลขตกอยู่ในช่วง 7 – 10 นั่นหมายถึงการมีอาการปวดขั้นรุนแรง อาการปวดรุนแรง เช่น เกิดจากแผลผ่าตัดใหญ่ หรือจากโรคมะเร็ง ยาพาราเซตามอลแต่เพียงขนานเดียวไม่สามารถรักษาได้แม้ว่าจะใช้เกินขนาดไปเท่าใดก็ตาม
- อาการปวดที่มีลักษณะอาการแปลก ๆ เช่น ปวดตื้อ หรือกดเจ็บ จากเนื้อเยื่อที่มีการอักเสบ อาการปวดบางชนิดที่พบได้ในผู้ป่วย เช่น ปวดแสบปวดร้อน เสียวแปลบเป็นพัก ๆ ปวดเหมือนเข็มเล็ก ๆ ทิ่มแทง ปวดเหมือนไฟช็อต ปวดร้าวไปที่บริเวณอื่น ๆ อาการปวดเหล่านี้อาจบ่งบอกถึงอาการปวดจากการที่เส้นประสาททำงานผิดปกติ ปวดร่วมกับอาการชา ยาพาราเซตามอลมีผลน้อยมากในการรักษาอาการดังกล่าว
- อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง หากมีอาการปวดศีรษะบ่อย ๆ แล้วใช้ยามากกว่า 15 วันต่อเดือนประมาณ 2 – 3 เดือนติดต่อกันจะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิด “โรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกิน (medication overuse headache)” ดังนั้นผู้ที่อาการปวดศีรษะบ่อยครั้ง เช่น ปวดศีรษะไมเกรน หรือปวดศีรษะจากความเครียดที่มีลักษณะอาการปวดเหมือนศีรษะถูกบีบรัด ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่ชัดเจน
ถึงแม้ว่ายาพาราเซตามอลจะมีคุณสมบัติหลักคือแก้ปวด แต่ก็ไม่ได้สามารถบรรเทาอาการปวดได้ทุกลักษณะ ดังนั้นหากมีอาการข้างต้นควรปรึกษาแพทย์จะดีที่สุด ไม่ควรรับประทานยาเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลเสียต่อไตและตับได้