คุณทราบไหมคะว่า ข้าวสารที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวันนี้ ต้องผ่านกรรมวิธีรมควันข้าวสารด้วยสารเคมีเพื่อป้องกันมอดและแมลงกัดข้าวจนทำให้เสียคุณภาพ หากเก็บข้าวสารหรือข้าวเปลือกเป็นเวลานาน หากใช้สารรมควันที่ไม่เหมาะสม เกินปริมาณจะส่งผลเสียต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน
ทำไมต้องรมควันข้าวสาร
การเก็บรักษาข้าวเปลือกหรือข้าวสารเป็นเวลานาน อาจมีมอดและแมลงเข้ามากัดกินจนเสียคุณภาพได้ จึงจำเป็นต้องใช้สารเคมีรมควันเพื่อกำจัด ซึ่งสารเคมีที่อนุญาตให้ใช้ในโรงเก็บข้าวปัจจุบัน คือ อะลูมิเนียมฟอสไฟด์ หรือ เมทิลโบรไมด์ โดยการบรรจุก๊าซเข้าไปในที่ที่มีการรั่วไหลและสามารถเก็บกักก๊าซนั้น ๆ ทิ้งไว้ 5-7 วัน
สารตกค้างจากการรมควันข้าวสาร
ตามมาตรฐานสากลของ โคเด็กซ์ ได้กำหนดปริมาณสารตกค้างสูงสุดไว้เป็นระดับที่ปลอดภัยไม่เกิน 0.1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม
1.อลูมิเนียมฟอสไฟด์
ที่เรียกสั้น ๆ ว่า ฟอสฟีน มีหลายรูปแบบแต่สารรมในรูปแบบเม็ดจะสามารถใช้ได้กับการรมผลิตผลเกษตรที่บรรจุกระสอบหรือถุง หรือรมในโรงเก็บ โดยมีลักษณะการกระจายตัวของแก๊สได้อย่างรวดเร็ว ใช้เวลานานในการรมประมาณ 5-7 วัน ใช้เวลาในการสลายตัวดีมากประมาณ 5 ชั่วโมง ที่สำคัญคือ ไม่มีพิษตกค้าง
อันตรายต่อมนุษย์ : อาการพิษนั้นเกิดจากการกินหรือสูดดม จะเกิดอาการปวดฟัน ขากรรไกร บวม มีการตายของเนื้อเยื่อบริเวณกระดูกขากรรไกรล่าง อาเจียน ไอ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เม็ดเลือดแดงน้อยกว่าปกติ ตัวเหลือง ชา หายใจลำบาก ปอดบวมน้ำ หัวใจเต้นผิดปกติ ชักและอาจตายภายใน 4 วัน หรือ อาจจะ 1-2 สัปดาห์
2.เมทิลโบรไมด์
เป็นก๊าซไม่มีสี ไม่มีกลิ่น มีข้อได้เปรียบกว่าสารรมชนิดอื่น ๆ คือ สามารถฆ่าแมลงได้ในทุกระยะของการเจริญเติบโต มีความสามารถในการฟุ้งกระจายและแทรกซึมเข้าไปในสินค้าได้ดี ไม่กัดโลหะเครื่องมือเครื่องใช้ ในขณะเดียวกันก็สามารถระบายสารออกจากกองสินค้าได้เร็วเมื่อสิ้นสุดการรม ที่สำคัญคือ ใช้ระยะเวลาในการรมสั้น และเป็นสารที่ไม่ติดไฟซึ่งจะทำให้การปฏิบัติงานง่ายขึ้น สามารถสลายตัวภายใน 3 ชั่วโมง ถึง 5 วัน และไม่มีพิษตกค้าง
อันตรายต่อมนุษย์: เมื่อสูดดมหรือซึมเข้าทางผิวหนังจะเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ทรงตัวลำบาก อ่อนเพลีย อัมพาต ปัสสาวะน้อยกว่าปกติ เนื่องจากไตบกพร่อง ความคิดสับสน ความดันต่ำ ชัก ปอดบวมน้ำ ตาย หากถูกผิวหนังจะระคายเคืองเป็นเม็ดตุ่มพอง
อย่างไรก็ตามการรมควันข้าวสารในโกดังเก็บข้าวมีความเป็นจำเป็น หากการรมทำอย่างถูกต้อง และถูกวิธี ปริมาณสารเคมีต้องสมดุลกับปริมาณข้าวสาร พื้นที่ จะทำให้ไม่มีสารเคมีตกค้าง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจรรยาบรรณของผู้ประกอบการอีกด้วย