ลูกดื้อมากถือเป็นปัญหาที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ต้องพบเจอ ซึ่งบางทีการแก้ไขก็เป็นเรื่องยาก เพราะไม่รู้สาเหตุว่าแท้จริงเกิดจากอะไรกันแน่ ดังนั้นเราจึงนำสาเหตุที่อาจจะทำให้ลูกดื้อมาบอกกัน
1. ทำตัวดี แต่ไม่ได้รับความสนใจ
มีหลายครั้งที่เด็กทำตัวดี เชื่อฟังไม่ดื้อไม่ซน พ่อแม่กลับละเลยไม่สนใจ ไม่รู้สึกกับการทำความดี แต่หากบังเอิญเด็กดื้อขึ้นมา งอแงทำตัวไม่ดี แล้วพ่อแม่ให้ความสนใจ อยากได้อะไรพ่อแม่รีบจัดให้เพื่อตัดความรำคาญ เด็กก็จะคิดว่าเป็นเด็กดื้อดีกว่าเพราะผู้ใหญ่จะได้ให้ความสนใจ
2. ลูกดื้อมาก เพราะไม่ได้รับคำแนะนำสั่งสอนเกี่ยวกับพฤติกรรมที่ดี
มีครอบครัวเป็นจำนวนไม่น้อยที่ชอบเลี้ยงลูกแบบปล่อย ให้คิดเองทำเอง ตัดสินใจเรียนรู้เอง ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องดี แต่พ่อแม่ก็ต้องสั่งสอนลูกว่าอะไรผิด อะไรถูก อะไรไม่ควรทำ รวมไปถึงการกำหนดขอบเขตขอบเขตพฤติกรรมที่ควรและไม่ควรทำในครอบครัว หากเห็นลูกทำอะไรที่ไม่ถูกต้องควรรีบเตือน และสั่งสอนโดยทันที
3. พฤติกรรมการเรียนแบบ
โดยเฉพาะการเรียบมาจากคนใกล้ตัวอย่างพ่อ และแม่ ดังนั้นควรเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าเราต้องเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก ไม่ว่าจะเป็นการพูด การปฏิบัติตัว ทุกอย่างที่คิดว่าลูกไม่ควรทำ ที่จะทำให้กลายเป็นเด็กดื้อ หากเราทำไม่ได้ ก็อย่าได้แปลกใจที่เราจะแก้นิสัยลูกไม่ได้ หรือหากลูกไปจำพฤติกรรมจากที่อื่นมาก็ควรรีบเตือน สั่งสอนอย่าปล่อยทิ้งไว้
4. มีความรู้สึก โกรธ เศร้า หรือกังวล
อารมณ์ความรู้สึกของเด็กก็ไม่ต่างจากผู้ใหญ่สักเท่าไหร่ เพราะเวลาเด็กรู้สึกด้านลบ โกรธ เศร้า หรือกังวล ก็แสดงพฤติกรรมระบายอารมณ์ออกมา ไม่ว่าจะเป็นความดื้อ โวยวาย ขว้างปาสิ่งของ ต่อต้าน ก้าวร้าว ทำร้ายคนอื่น หากลูกไม่เคยแสดงออกแบบนี้ แต่อยู่เป็นพ่อแม่ควรถามลูกว่าเป็นอะไร ไม่สบายใจเรื่องไหน ถามถึงที่โรงเรียน ครู เพื่อน เพื่อจะได้รู้สาเหตุ และแก้ไขต่อไป
5. พื้นฐานทางด้านอารมณ์
เด็ก ๆ มักจะมีพื้นฐานทางด้านอารมณ์ที่แตกต่างกันออกไป ลูกดื้อมาก มีอารมณ์อ่อนไหวสูง หงุดหงิดง่าย ปรับตัวยาก มีความคิดไปทางลบ ไม่ให้ความร่วมมือกับคนอื่น แถมต่อต้าน ถือว่ามีพฤติกรรมที่ค่อนข้างถดถอยไม่สมวัย หากเป็นเช่นนี้พ่อแม่ควรต้องทำความเข้าใจพื้นอารมณ์ของลูก ต้องตอบสนองอารมณ์อย่างเหมาะสม ก็จะช่วยให้เด็กปรับพฤติกรรมต่าง ๆ ให้ดีขึ้นได้
เมื่อรู้ถึงสาเหตุที่ลูกดื้อมาก ไม่เชื่อฟัง ชอบต่อต้าน ก็ลองนำไปสังเกตว่าลูกมีสาเหตุมาจากอะไร ถ้าเป็นหนึ่งใน 5 ข้อนี้ก็ค่อย ๆ ปรับพฤติกรรมด้วยความรัก และเอาใจใส่ หากไม่ดีขึ้นก็ควรปรึกษากุมารแพทย์หรือจิตแพทย์เด็ก เพื่อขอคำแนะนำ หรือเข้ารับการรักษาจะดีกว่า